การทำสมาธิที่ถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาสอน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จึงรู้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์
ด้วย ทศพลญาณ ของพระองค์ ที่สะสมพระบารมี
มาอย่างมากมายหลายอสงไขย
ความลับระหว่างภพภูมิ จึงมิอาจปิดกั้นพระญาณของพระองค์ได้

พระองค์รู้ว่าแต่ละภพภูมิมี 31ภพภูมิ
แต่ละภพภูมิมีความสุข ความทุกข์เพียงใด

และกรรมหรือการกระทำใดทำให้เกิดเป็นอะไร
พระองค์จึงเมตตาบอกและสอน
ในสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสรู้

อบายภูมิ ซึ่งเป็นแดนทุกคติภูมิ มี4 ได้แก่
นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน
มนุษย์ 1
เทวดา มี6ชั้น
พรหม มี16ชั้น
อรูปพรหม มี4ชั้น
รวมเป็น31ภพภูมิที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ตามกรรม
ถ้ายังเกิดอยู่ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์อยู่ร่ำไป

อริยสัจ4
ทุกข์ คือ การเกิด ตราบใดที่มีการเกิด ก็มีทุกข์
เพราะต้องพบกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ซึ่งเป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้

สมุทัย คือ กิเลส เป็นเหตุให้ต้องเกิด

นิโรธ คือ ดับทุกข์(พระนิพพาน)

มรรค คือ ทางแห่งการดับทุกข์
(มรรคมีองค์ 8)(ศีล สมาธิ ปัญญา)

ถ้าอยากหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ก็ต้องเข้าแดนนิพพาน

ทาน ก็คือการให้ทานกับผู้มีศีลก็จะมีอานิสงฆ์
ทำให้เกิดมาไม่ยากจน เพราะความจนเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ทางสายเอกสายเดียวที่เข้าสู่แดนนิพพาน คือ
มรรคมีองค์8 โดยย่อลงมาก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

1.ศีล สมาทานศีล(สมาทาน:ยินดีหรือน้อมนำมาปฏิบัติ)
แล้วรักษาศีล ตามฐานะตน เช่น ฆารวาส ก็รักษาศีล5
เพราะการรักษาศีล จะเป็นไปเพื่อไม่ก่อเวร เป็นประโยชน์สุข
แก่ผู้ที่รักษาศีลเอง เพราะเราก็ต่างปรารถนาความสุข
และทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ง่าย

ขั้นตอนของการผิดศีลข้อ1
1.รู้ว่าสิ่งนั้นมีชีวิต
2.คิดจะฆ่า
3.วางแผนฆ่า
4.พยายามฆ่า
5.ฆ่าได้สำเร็จ

ขั้นตอนของการผิดศีลข้อ2
1.รู้ว่าทรัพย์นี้มีเจ้าของ(เจ้าของยังไม่สละ หรือทิ้ง)
2.คิดจะขโมย
3.วางแผนขโมย
4.พยายามขโมย
5.ขโมยได้สำเร็จ
(กรณีที่เป็นของหนัก ชิ้นใหญ่ แค่เคลื่อนจากจุดเดิมก็ผิดศีล)

ขั้นตอนของการผิดศีลข้อ3
1.รู้ว่า คนนี้มีเจ้าของ(มีคู่ครอง คู่หมั้น หรือมีผู้ปกครองพ่อ แม่ พี่ น้อง)
2.คิดจะละเมิด
3.วางแผนละเมิด
4.พยายามละเมิด
5.ละเมิดได้สำเร็จ(เสพสม) เพียงเข้าไป 1 องคุลี

ขั้นตอนของการผิดศีลข้อ4
1.รู้ว่าสิ่งที่จะพูดไม่จริง
2.คิดจะพูด
3.วางแผนพูด
4.พูดแล้วคนฟังเชื่อ จึงจะผิดศีล
(หากพูดโกหกแล้วคนฟังไม่เชื่อ ก็ไม่ผิดในเรื่องโกหก
แต่ผิดเรื่อง เพ้อเจ้อ)

ขั้นตอนของการผิดศีลข้อ5
1.รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสุรา-เมรัย
สุราคือเหล้ากลั่น เมรัยคือเหล้าหมัก เช่น ไวน์ เบียร์
2.คิดจะกิน
3.กลืนผ่านลำคอ

การดื่มสุรา เมรัย ยาเสพติด
1.เบียดเบียนตนเอง
2.เบียดเบียนผู้อื่น
3.เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น

เพราะกรรม คือการกระทำ จะส่งผลในอนาคต
ไม่ว่ากรรมดี หรือกรรมชั่ว ก็ล้วนส่งผลทั้งสิ้น

ดังนั้น อนาคตเราจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่การกระทำ
ไม่ได้อยู่ที่ปีชง ดวงดาว ฤกษ์ผานาที หรือการบนบาน
การดูหมอ เชื่องมงายในมงคลข่าวลือ
(สีลัพพตปรามาส สังโยชน์)

2.สมาธิ(สมถกรรมฐาน)
เป็นการทำสมาธิ โดยนั่งคู้บัลลังก์
แต่ถ้านั่งคู้บัลลังก์ไม่ได้ เช่น อายุมากแล้ว จะนั่งเก้าอี้
ก็ได้ แต่อย่านั่งพิง ให้นั่งตัวตรง
การนั่งคู้บังลังก์ คือ
นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
หลังตรง ดำรงจิตให้มั่นด้วยการ
ให้จิตมีสติรู้อยู่กับลมหายใจ
หายใจเข้า ก็ให้รู้จากจมูก ผ่าน อก ไปถึงเหนือสะดือ(ศูนย์กลางกาย)
หายใจออก ก็ให้รู้จากศูนย์กลางกาย ผ่าน อก มาที่จมูก
เรียกว่า อานาปานสติ

ถ้าฝึกใหม่ อาจใช้คำบริกรรม พุทโธร่วมด้วยก็ได้
หายใจเข้าก็ภาวนาว่า พุท   หายใจออกก็ภาวนาว่า โธ
แต่ถ้าจิตรู้แต่เฉพาะลมหายใจ โดยคำบริกรรม หายไป
ก็ไม่ต้องกลับไปบริกรรม ให้รู้เพียงลมหายใจอย่างเดียว

(คำบริกรรม ไม่ต้องแบ่งว่าอะไรดีกว่าอะไร
เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิรู้ลมหายใจ สุดท้ายก็ทิ้งคำบริกรรม)
แต่ไม่ใช่ยุบหนอ พองหนอ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน
ยุบหนอ พองหนอ(ยุบหนอ พองหนอ เป็นสิ่งที่เกจิคิดขึ้น)
ยุบหนอ พองหนอ จะไปดูหนังหน้าท้อง ทำให้ไม่รู้ภายในกาย

ถ้าฝึกใหม่ๆ หลายคนจะมีเครื่องสกัดกั้นการเกิดสมาธิ
เรียกว่า นิวรณ์5 ได้แก่
กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน
ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่
พยาบาท ความไม่พอใจจากความไม่ได้สมดังปรารถนา
ในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่
ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย
ความง่วงนอน
อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา
ไม่สงบนิ่ง ฟุ้งซ่าน
วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล
กล้าๆ กลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ

ก็ต้องฝึกให้มารู้ลมหายใจเข้าออก

บางท่านเมื่อจิตสงบ ก่อนจะเข้าสู่ฌาน จะเกิดปีติขึ้น เช่น

คันบริเวณหน้า เหมือนมีมดมาไต่
มีน้ำตาไหล
ขนลุก ขนพอง สยองเกล้า
ตัวพองใหญ่ขึ้น
ตัวเบาลอย

บางท่านอาจมีอาการปีติหลายอย่าง
บางท่านอาจมีปีติเพียง 2-3 อย่าง
ก็ไม่ต้องตกใจ และไม่ต้องสนใจ ให้รู้ลมหายใจเพียงอย่างเดียว
อาการดังกล่าวก็จะหายไป
(ถ้ามีอาการปีติดังกล่าว ก็แสดงว่ามาถูกทางแล้ว)

เมื่อเข้าสู่ฌาน
ฌาน1 ก็คือรู้ลมหายใจเพียงอย่างเดียว จากจมูก ผ่านอก ถึงศูนย์กลางกาย
และจากศูนย์กลางกาย ผ่านอก มาจมูก กลับไปกลับมา

ฌาน2 ก็คือรู้ลมหายใจเพียงอย่างเดียว จากอก ถึงศูนย์กลางกาย
และจากศูนย์กลางกาย มายังอก กลับไปกลับมา

ฌาน3 ก็คือรู้ลมหายใจเพียงอย่างเดียว จากลิ้นปี่ ถึงศูนย์กลางกาย
และจากศูนย์กลางกาย มายังลิ้นปี่ กลับไปกลับมา

ฌาน4 ก็คือรู้อยู่ที่ศูนย์กลางกาย โดยไม่มีรู้ลมหายใจ
บางท่านอาจรู้สึกว่าไม่มีลมหายใจ แล้วตกใจกลัว
จึงให้รู้ว่าจริงๆ กายเรายังหายใจอยู่ แต่จิตเราไม่ได้ไปรับรู้

แต่เมื่อนั่งแล้วจะมาดูว่าอันไหนฌาน1 หรือฌาน2 หรือ3 หรือ4
นั้น ไม่มีสิทธิจะเข้าฌานได้ ต้องนั่งรู้ลมหายใจ จนจิตเข้าไปอยู่
ศูนย์กลางกาย แล้วค่อยอธิษฐาน(นึกถอน)มาอยู่ในฌานที่ต้องการ

เมื่อถึงฌาน4 แล้วช่วงแรกๆ บางคนได้ไม่นานจิตก็ถอนจากฌาน4
ให้ฝึกกลับเข้าไปฌาน4ใหม่
จากนั้นให้ฝึกสลับฌาน กลับไปกลับมา ให้เป็นวสี(ชำนาญ)
เพื่อจะใช้ในขั้นของปัญญา
ถ้าอยู่ในฌาน4 ได้นานเป็นชั่วโมง เรียกว่า การทรงฌาน

ฌาน4 ก็คือ สัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์8

3.ปัญญา(วิปัสสนากรรมฐาน)
ปัญญามี 3 ขั้น
1. สุตมยปัญญา (ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง)
2. จินตามยปัญญา (ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด)
3. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม)

พระพุทธเจ้าทรงเมตตาสอน ภาวนามยปัญญา
ก็คือวิปัสสนากรรมฐาน
โดยการทำสมาธิ จนเข้าฌาน ฝึกให้ถึงฌาน4
(ฌาน4เป็นสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์8)
ฝึกทรงฌาน คือ เมื่อนั่งถึงฌาน4 พอจิตถอนก็ฝึกกลับเข้าไปใหม่

เมื่อจะพิจารณาให้สลับมาเป็นฌาน3 เพราะถ้ายังทรงอยู่ในฌาน4
ฌานจะกดให้พิจารณาไม่ได้ ทำให้บางท่านจึงได้แต่นั่ง
สงบนิ่ง ไม่สามารถขึ้นวิปัสสนาได้

จึงต้องอธิษฐานมายังฌาน3 จิตก็จะอยู่ฌาน3
ในทันทีเพราะจิตเร็วมาก ทำให้คิดพิจารณาได้

เรียกว่า การยกจิตขึ้นวิปัสสนา
ดังนั้นการฝึกสลับฌานจึงมีความสำคัญและนำมาใช้ในส่วนนี้

แล้วเมื่ออยู่ในฌาน3 ให้พิจารณาเรื่อง
-การเกิดเป็นทุกข์
ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มืดก็มืด มองอะไรก็ไม่เห็น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เมื่อแม่กินอาหารเผ็ดก็แสบร้อน บอกใครก็ไม่ได้
เมื่อตัวโตขึ้นมา ก็ต้องขดอยู่ในครรภ์มารดาแคบก็แคบ เมื่อยก็เมื่อย
พอขยับตัวนิดหน่อยแก้เมื่อย พ่อแม่ไม่รู้เห็นลูกดิ้นก็ดีใจกันใหญ่
หวังว่าได้ออกมาก็จะมีความสุข แต่พอคลอดออกมาก็พบกับอากาศ
ที่แห้งและเย็น ก็เป็นทุกข์
ความแก่เป็นทุกข์ ซึ่งความแก่ก็แก่ขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิ
ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์

- พิจารณาร่างกาย (กายคตานุสติกรรมฐาน) เช่น
เกษา คือ ผม ผมก็เป็น
อนิจัง(ไม่เที่ยง)
ทุกขัง(ทนอยู่ไม่ได้)
อนัตตา(ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา)

โลมา คือ ขน ขนก็เป็น
อนิจัง(ไม่เที่ยง)
ทุกขัง(ทนอยู่ไม่ได้)
อนัตตา(ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา)

นขา คือ เล็บ เล็บก็เป็น
อนิจัง(ไม่เที่ยง)
ทุกขัง(ทนอยู่ไม่ได้)
อนัตตา(ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา)

ทันตา คือ ฟัน ฟันก็เป็น
อนิจัง(ไม่เที่ยง)
ทุกขัง(ทนอยู่ไม่ได้)
อนัตตา(ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา)

ตะโจ คือ หนัง หนังก็เป็น
อนิจัง(ไม่เที่ยง)
ทุกขัง(ทนอยู่ไม่ได้)
อนัตตา(ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา)

-พิจารณาว่า
เรามีความแก่เป็นของเราเป็นธรรมดา
เราจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้

เรามีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นของเราเป็นธรรมดา
เราจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้

เรามีความตายเป็นของเราเป็นธรรมดา
เราจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

ซึ่งการพิจารณาจะมีขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด

วิปัสสนา ก็คือการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้
ขณะที่ทรงฌาน เพราะขณะที่ทำสมาธิทรงฌาน
จิตจะไม่มีกิเลสชั่วคราว เรียกว่า ตทังควิมุตติ
แล้วความรู้จะเข้าสู่จิต ทำให้จิตรู้ความจริงว่า

กายนี้ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายนี้
ร่างกายเปรียบเหมือนบ้านชั่วคราว
ที่ถูกสร้างขึ้นจากการกระทำ(กรรม)
แต่ตราบใดที่ยังมีการเกิด ก็จะมีทุกข์
ทางพ้นทุกข์ จึงต้องเข้าพระนิพพาน

ดังนั้น วิปัสสนากรรมฐาน จึงต้องควบคู่กับ สมถกรรมฐาน
แต่ สมถกรรมฐาน(ความสงบ) ต้องมาก่อน

กายานุปัสสนา ก็คือการพิจารณากายให้เห็นตามความเป็นจริง
ว่ามีความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่อยู่ในการบังคับบัญชาหรือไม่มีตัวตน
ขณะที่อยู่ในฌาน โดยน้อมมาไตร่ตรองอย่างแยบคาย(โยนิโสมนสิการ)

ดังนั้นการจะบรรลุธรรมได้ จะต้องประกอบไปด้วย
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นมรรคสมังคี
คือ มีความสมดุลกันทั้งศีล และสมาธิ และปัญญา

ศีล กำจัดกิเลสอย่างหยาบ
สมาธิ กำจัดกิเลสอย่างกลาง
ปัญญา กำจัดกิเลสอย่างละเอียด

พระอริยเจ้า หรืออริยบุคคล ล้วนแต่ทำนิวรณ์ทั้ง5 ให้สงบ

พระโสดาบันและพระสกทาคามี
เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ (ตัดสังโยชน์3)

สังโยชน์10 คือ เครื่องร้อยรัดให้สัตว์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร
(ขอกล่าวเพียง 3ข้อก่อน)

1.สักกายทิฏฐิ คือ การยึดมั่นในกายนี้ ว่ากายนี้เป็นของเรา

การจะละสักกายทิฏฐิ
รักษาศีล ทำสมาธิ เข้าฌาน แล้วพิจารณากาย
จนจิตเห็นตามความเป็นจริงจากใจ
ดังนั้นพระโสดาบัน จะรู้จากใจว่าวันหนึ่งเราต้องตาย

2.วิจิกิจฉา คือ ความลังเล สงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

การจะละวิจิกิจฉา
รักษาศีล ทำสมาธิ เข้าฌาน แล้วพิจารณากาย
จนจิตเห็นตามความเป็นจริงจากใจ ก็จะรู้ว่าทางสายเอก
ที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ดังนั้นใจพระโสดาบัน
ไม่ลังเลสงสัยในการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ลังเลสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ลังเลสงสัยในสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า

3.สีลัพพตปรามาส คือ การรักษาศีลตามฐานะตนให้ดี
ไม่งมงาย ไม่เชื่อในมงคลข่าวลือ
เช่น ฆารวาสก็รักษาศีล5 เมื่อรักษาศีลก็เป็นการทำดี
(กรรมดี เพราะกรรมคือการกระทำ) เมื่อทำเหตุดี ผลที่ได้ก็จะดี มีความสุข
ถ้าผิดศีล ก็จะเป็นทุกข์ เช่น
ถ้าผิดศีลข้อ1 ก็ทำให้อายุสั้น หรือเจ็บป่วย เสียเงิน ก็เป็นทุกข์
ถ้าผิดศีลข้อ2 ก็ทำให้ทรัพย์สินที่ได้มา สูญหาย ก็เป็นทุกข์
ถ้าผิดศีลข้อ3 ก็ทำให้เกิดมาเป็นตุ๊ด เป็นทอม หรือสามีมีชู้ หรือภรรยามีชู้ ก็เป็นทุกข์
ถ้าผิดศีลข้อ4 ก็ทำให้คนไม่เชื่อถือ หรือถูกใส่ร้าย ก็เป็นทุกข์
ถ้าผิดศีลข้อ5 ก็ทำให้สุขภาพเสีย มีทั้ง alcoholism ตับแข็ง
ขาดสติ ทำให้ผิดศีลข้ออื่นๆ พูดผิดหูก็ฆ่ากันบ้าง ทำร้ายกันบ้าง
เกิดอุบัติเหตุ เสียทรัพย์ เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น ก็เป็นทุกข์

ดังนั้น เมื่อรักษาศีลดี คือการทำกรรมดี ผลที่ได้ในที่สุดก็จะดี
เพราะผล ย่อมมาแต่เหตุ
จึงไม่ต้องไปเชื่อในเรื่องดวงดาวว่าดาวดวงนี้มาแล้วทำให้ดวงไม่ดี
ปีนี้เป็นปีชงต้องแก้ด้วยวิธีต่างๆ
ฤกษ์ผานาที เวลานี้จึงจะดี ตัวเลขนี้จึงจะโชคดี
วันนี้ใส่เสื้อสีนี้ ถึงจะดี
งมงายอยู่กับหมดดู

การจะละสีลัพพตปรามาส
รักษาศีล ทำสมาธิ เข้าฌาน แล้วพิจารณาคุณของศีล

ดังนั้นพระโสดาบันจึงเป็นผู้รักษาศีล และ
ไม่งมงาย ไม่เชื่อในมงคลข่าวลือ จากใจ

พระโสดาบัน ยังมีความรัก แต่รักในคู่ของตน

พระโสดาบันจึงยังมีความโลภ แต่ไม่โกงใคร

พระโสดาบัน ยังมีความโกรธ แต่ไม่ทำร้ายใคร

พระโสดาบัน ยังมีความหลง แต่ก็รู้ว่าวันหนึ่งต้องตาย

พระสกทาคามี ก็จะละสังโยชน์3 ได้ละเอียดขึ้น

พระอนาคามี
เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ (ตัดสังโยชน์5)

พระอรหันต์
เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์
(ตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด10)

คำสอนของพระพุทธเจ้าพิสูจน์ได้ด้วยการลงมือทำ

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดฯ