ยาแก้ไข้หวัด
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า "ไข้หวัด" คืออะไร
ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จะเน้นทางด้านเชื้อ โดยไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อนี้มีอยู่ราว 200 ชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดมีอยู่สองกลุ่ม คือ
ไรโนไวรัส (Rhinovirus) กับ โคโรไวรัส (Corovirus) ซึ่งไข้หวัดนั้นพบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่การเป็นไข้หวัดแต่ละครั้ง จะเกิดจากเชื้อไข้หวัดเพียงชนิดเดียว ดังนั้นคนเราจึงเป็นไข้หวัดได้บ่อย โดยปกติจะเป็นกันปีละ 3-4 ครั้ง
ทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดโดยเฉพาะ การรักษาจะเน้นให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้พอเพียง
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยเสริมภูมิต้านทานโรค และดื่มน้ำมากๆ อาการจะดีขึ้นและหายไปได้เอง ถึงกระนั้นก็ตามอาการต่างๆที่เกิดจากไข้หวัด
อาทิ น้ำมูกไหล คันคอ ไอ จาม คัดจมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ ปวดเมื่อย เป็นต้น ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่เป็นโรคนี้ได้
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว(ซึ่งจะกล่าวต่อไป)ส่วนทางด้านการแพทย์แผนจีน จะให้ความสำคัญในด้านสมดุลอิน-หยางของร่างกาย เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดก็มีอยู่ทั่วไป หากร่างกายได้สมดุลก็จะมีภูมิต้านทาน
ดังนั้นยาแก้ไข้หวัดจึงเน้นไปแก้สมดุล โดยอาการของหวัดจะแบ่งเป็นหวัดร้อนหรือไข้หวัด และหวัดเย็น- อาการไข้หวัดที่เริ่มต้นด้วยการร้อนใน เช่น เจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้ ริมฝีปากแดง ลิ้นแดง เป็นหวัด น้ำมูกไหล มีเสมหะข้นขาวหรือเขียวปนเหลือง ปวดหัว
ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ ปวดหัว ถ้าหนักอาจปวดเมื่อยเนื้อตัว แสดงว่าเป็น "หวัดร้อน" ให้รับประทาน ยาแก้ไข้ ตรา เอ
- ถ้าเป็นหวัดมีอาการหนาวสะท้าน ซึม อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น น้ำมูกใส เสมหะใส ปัสสาวะมาก แสดงว่าเป็น "หวัดเย็น"
ให้รับประทานยาที่มีฤทธิ์อุ่น กระจายเย็นส่วนยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในไข้หวัดหรือยาแก้ไข้หวัด ซึ่งเป็นการรักษาหรือบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากไข้หวัด มีดังนี้
1.ยาแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) เพื่อลดน้ำมูก จาม และคัดจมูก
2.ยาแก้คัดจมูก (Decongestant)
3.ยาแก้ไอ (Antitussive)
4.ยาแก้ปวดลดไข้ (Analgesic-antipyretic)
ยาแอนติฮีสตามีน หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine)
ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า “ยาแก้แพ้” เป็นยาที่ยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮีสตามีน ใช้ในบรรเทาอาการที่เกิดจากการแพ้ทั่วไป
ฮีสตามีน เป็นสารที่มีอยู่ในเซลล์ร่างกาย ซึ่งจะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาเมื่อเกิดการแพ้ ทำให้มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งต่อมต่างๆในร่างกาย เช่น
เพิ่มการหลั่งของน้ำลาย น้ำมูก น้ำตา ในกรณีของไข้หวัด ฮีสตามีนที่หลั่งออกมาจะทำให้เกิดการบวมอักเสบของเยื่อบุจมูกและหลอดลม เพิ่มการหลั่งของน้ำมูก
และน้ำคัดหลั่งในหลอดลม ดังนั้น การใช้ยานี้ก็เพื่อ ลดน้ำมูก จาม และคัดจมูก นั่นเอง ตัวอย่างยาที่ใช้กันมากในกลุ่มนี้คือ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ใช้รักษาอาการคัดจมูก อาการคัน และอาการแพ้ต่างๆ เช่น ลมพิษ ผื่นแพ้ หวัดจากการแพ้
ข้อควรระวัง มักทำให้ง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ ตาพร่า คนที่ขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรระวัง
ในเด็กเล็ก ถ้าใช้ขนาดมากเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายหรือชักได้ และยานี้อาจทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอมีเสมหะยาแก้คัดจมูก (Decongestant)
ใช้เพื่อลดอาการบวมของเยื่อจมูก ทำให้หายใจโล่ง ลดอาการแน่นจมูก ซึ่งเกิดจากหวัด หรือเยื่อจมูกอักเสบ เนื่องจากการแพ้
ประเภทของยามี 2 ประเภทคือ ชนิดรับประทาน และชนิดหยอดหรือพ่นจมูก
ชนิดรับประทาน ยาออกฤทธิ์ได้นาน และไม่เกิดอาการคัดจมูก เมื่อหยุดยา แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น และความดันเลือดสูง เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) บางครั้งอาจพบเป็นยาผสมระหว่าง ซูโดอีเฟดรีนกับไตรโพรลิดีน (Triprolidine)
ข้อแนะนำ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน ควรใช้ยาตามแพทย์สั่ง และยานี้อาจทำให้ง่วงนอน มึนงง และมีอาการเช่นเดียวกับคลอร์เฟนิรามีนได้ชนิดหยอดหรือพ่นจมูก ยาออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว แต่เมื่อหยุดยาจะเกิดอาการคัดจมูกมากกว่าเดิม เช่น อีเฟดรีน (Ephedrine) และแนฟาโซลีน (Naphazoline)
ข้อแนะนำ เมื่อหยอดยาแล้วเกิดอาการคัดจมูกมากกว่าเดิม ให้เปลี่ยนมาใช้ยาชนิดรับประทานแทน และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานกว่า 3 วัน
ยาแก้ไอ (Antitussive)
การไอไม่ใช่โรคแต่เป็นเพียงอาการของโรคเท่านั้น ลักษณะอาการไอมี 2 แบบ ไอมีเสมหะ และไอไม่มีเสมหะ (ไอแห้ง) การไอมีเสมหะ
สาเหตุเกิดจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือปอด ส่วนการไอไม่มีเสมหะ เกิดจากการแพ้ฝุ่นละออง ก๊าซ ควัน อากาศเย็น หรือแห้ง
การรักษาอาการไอจึงต้องรักษาที่ต้นเหตุ ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไอเรื้อรังหรือมีเสมหะสีเขียว หรือเหลือง ควรรีบไปพบแพทย์ประเภทของยาแก้ไอ แบ่งเป็น 4 ประเภท
1.ยาระงับอาการไอ (Antitussive) โดยออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง มี 2 ชนิด คือ ชนิดเสพติด
2.ยาขับเสมหะ (Expectorant) โดยออกฤทธิ์กระตุ้นให้มีการขับเสมหะได้ง่าย เช่น แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium chloride) ใช้สำหรับอาการไอที่มีเสมหะ
3.ยาละลายเสมหะ (Mucolytic) ทำให้เสมหะมีความหนืดลดลง ช่วยให้ขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ใช้สำหรับอาการไอที่มีเสมหะมาก และเหนียวข้น
เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine)
4.ยาที่ทำให้ชุ่มคอ โดยยาจะไปเคลือบผิวหลอดลม และลดอาการระคาย ใช้สำหรับอาการไอทุกชนิด เช่น ยาแก้ไอน้ำเชื่อม (Cough syrup)
ข้อควรระวัง ยาระงับไอชนิดเสพติด ควรระวังในผู้ป่วยโรคหอบหืด เพราะจะทำให้เสมหะเหนียวข้น
ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน จะเกิดการติดยาและดื้อยา และห้ามใช้ยาระงับไอกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนยาแก้ปวดลดไข้ (Analgesic-antipyretic)
เป็นกลุ่มยาที่ใช้กันมากที่สุด ยาในกลุ่มนี้มีทั้งเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ และยาเสพติดให้โทษ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพ-ติด ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติในการลดไข้รวมอยู่ด้วย เช่น แอสไพริน (Aspirin) พาราเซตามอล (Paracetamol)
และชนิดที่เสพติดได้ เช่น มอร์ฟีน (Morphine) ใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บปวดขั้นรุนแรง และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
แอสไพริน (Aspirin) มีฤทธิ์ระงับปวด ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดเส้นประสาท
ถ้าใช้ขนาดสูง จะมีฤทธิ์บรรเทาการอักเสบ และมีฤทธิ์ลดไข้
ข้อควรระวัง ท่านที่มีแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรใช้แอสไพริน และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ได้รับแอสไพริน
ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบเลือดพาราเซตามอล (Paracetamol) มีฤทธิ์ระงับปวดและลดไข้ แต่ไม่มีฤทธิ์บรรเทาการอักเสบ ใช้ระงับอาการปวดศีรษะ ปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ
ข้อควรระวัง ถ้าใช้ยานี้เกินขนาดมากๆ เช่น ผู้ใหญ่กินครั้งละ 10 กรัม (ขนาด 500 มิลลิกรัม 20 เม็ด) หรือเด็กครั้งละ 3 กรัม ก็อาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับทำงานไม่ได้ หรือตับวาย ถึงตายได้ ดังนั้น ในเด็ก ไม่ควรใช้เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่ไม่ควรเกินวันละ 4 กรัมตามที่กล่าวมาแล้วว่า ไข้หวัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และหายเองได้ ภายใน 3-7 วัน ถ้าได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ทำให้ร่างกายอบอุ่น และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่หากผู้ป่วยไม่สบายหรือรู้สึกรำคาญ ทำงานไม่ได้ อาจจะต้องใช้ยาบรรเทาอาการต่างๆ ที่มีในขณะที่เป็นหวัด เช่น มีอาการน้ำมูกไหล ให้ใช้ยาแก้แพ้ มีไข้ ปวดศีรษะ ให้ใช้ยาแก้ปวดลดไข้
สำหรับยาแก้คัดจมูกอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เลย เนื่องจากน้ำมูกลดลงการหายใจก็จะสะดวกขึ้น แต่ถ้ารู้สึกคัดแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก อึดอัด
ก็อาจใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกร่วมด้วย
ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องใช้ ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย มีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียวในการใช้ยาบรรเทาอาการหวัดหรือยาแก้ไข้หวัดด้วยตนเองมีข้อควรระวัง คือ
มีโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกหลายชนิดที่ในระยะแรกทำให้เกิด อาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้เลือดออก ไอกรน ตับอักเสบจากไวรัส
จึงควรติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้นานเกิน 7 วัน หรือมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรไปพบแพทย์